เศรษฐกิจของประเทศสำคัญเผชิญปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้การฟื้นตัวล่าช้า

แรงส่งทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯอาจแผ่วลง สะท้อนความจำเป็นในการออกมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิต และบริการเดือนสิงหาคมเพิ่มสู่ระดับ 54.7 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของสถาบันการจัดการด้านอุปทาน (ISM) ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน สู่ระดับ 56.9 สัญญาณดังกล่าวบ่งชี้ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัว ในภาคบริการที่มีสัดส่วนสุงถึง 77.4% ของ GDP สำหรับการจ้างงานนอกภาคเกษตร เพิ่มขึ้น 1.37 ล้านตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สู่ระดับ 8.4% รวมทั้งค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน 0.4% MoM อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ขอรับสิทธิสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องยังคงสูงถึง 13.3 ล้านราย

วิจัยกรุงศรีประเมินทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจาก (i) การขยายตัวในภาคบริการชะลอลง ขณะที่อัตราการว่างงานล่าสุด ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับ 3.5% ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 และ (ii) ความล่าช้าในการออกมาตรการเยียวยารอบใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก ความกังวลต่อภาระหนี้ภาครัฐที่อาจเพิ่มสูงขึ้น โดยหนี้สาธารณะต่อ GDP ใน 2Q/2563 พุ่งขึ้นแตะระดับ 105.5% ทั้งนี้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ อาจหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมใน การประชุมช่วงกลางเดือนกันยายนนี้

เศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยยังต้องติดตามนโยบายของ รัฐบาลใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนกรกฎาคมขยายตัว 8.0% MoM ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 จากการฟื้นตัวของการ ผลิตรถยนต์และผลิตภัณฑ์เหล็ก ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 2.9% โดยสัดส่วนลูกจ้างที่ถูกพักงานโดยได้รับเงินสวัสดิการชดเชยลดลงมาที่ 3.1% จากที่ เคยสูงถึง 9.6% ในเดือนเมษายน สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและ ภาคบริการเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สู่ระดับ 45.2

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจญี่ปุ่นแม้จะยังไม่รวม ผลหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดระลอกที่สองแล้วก็ตาม ขณะที่ยังต้องประเมินนโยบายของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มว่านาย โยชิฮิเดะ สึกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น จะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้ และคาดว่าการดำเนินนโยบายต่างๆ อาจมีความต่อเนื่อง ถือเป็นปัจจัยหนุนการฟื้นตัวในระยะต่อไป

เศรษฐกิจจีนฟื้นต่อเนื่องด้วยแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคบริการ และก่อสร้าง ด้าน Fitch คงอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารแม้กำไรร่วง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและนอกภาคการผลิตเดือนสิงหาคม ของทางการเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 54.5ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 จากดัชนีนอกภาคการ ผลิตที่ปรับดีขึ้นแตะระดับ 55.2 สูงสุดในรอบ 30 เดือน ขณะที่ดัชนีภาคการผลิตขยับ ลงเล็กน้อย 0.1 สู่ระดับ 51.0

การฟื้นตัวต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกภาคการผลิตช่วยชดเชยการ ปรับตัวลงของดัชนีภาคการผลิต เป็นผลจากดัชนีภาคบริการและภาคก่อสร้างที่ เพิ่มสู่ระดับสูงสุดนับจากปี 2561 โดยเฉพาะภาคก่อสร้างที่ค่าดัชนีสูงกว่า 60.0 เป็นเดือนที่ 2 จากนโยบายกระตุ้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านภาคธนาคาร ตัวเลขผลกำไรช่วงครึ่งปีแรกของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ลดลงจากปีก่อนประมาณ 10-12% YoY อย่างไรก็ตาม Fitch rating ยังคงอันดับ ความน่าเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เนื่องจากธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ออกมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยและให้ ความช่วยเหลือลูกหนี้โดยเลื่อนการชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ ของจีนสามารถป้องกันความเสี่ยงด้านการเงินได้

บทความนี้มาจากศูนย์วิจัยกรุงศรี สามารถอ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่ www.krungsri.com